โรคหัดเยอรมัน (Rubella)
(คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข)

โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งมีอาการไข้และผื่นทั่วตัว ในเด็กส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง
โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส Rubella เป็น RNA ไวรัส ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Togaviridae และในกลุ่มRubivirus

ระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 14-21 วัน เฉลี่ย 16-18 วัน

การติดต่อ โรคหัดเยอรมันติดต่อกันได้โดยการสัมผัสโดยตรง เชื้อที่อยู่ในลำคอส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยผ่านออกมาทางการไอจาม เข้าสู่ทางระบบการหายใจ ประมาณ
ร้อยละ 20-50 ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ
ระยะติดต่อกันได้มากคือ 2-3 วัน ก่อนมีผื่นขึ้นไปจนถึง 7 วันหลังผื่นขึ้น
สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ (Congenital rubella) เชื้อไวรัสจะอยู่ในลำคอและขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะได้นานถึง 1 ปี จึงนับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ
โรคหัดเยอรมันส่วนใหญ่จะเป็นกับเด็ก ผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อได้รับเชื้อจะป่วยได้และอาการอาจรุนแรงมากกว่าเด็ก ที่สำคัญคือถ้ามีการติดเชื้อในหญิงมีครรภ์ จะทำให้ลูกที่ติดเชื้อคลอดออกมามีความพิการได้ตั้งแต่ร้อยละ 25-40 ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของการตั้งครรภ์

อาการและอาการแสดง

1.ในเด็กโต จะเริ่มด้วยต่อมน้ำเหลืองที่หลังหู ท้ายทอย และด้านหลังของลำคอโต และเจ็บเล็กน้อย เด็กโตจะรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว ไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีเจ็บคอ ร่วมด้วย 1-5 วัน ประมาณวันที่ 3 ผื่นจะขึ้นเป็นสีชมพูจางๆ กระจายอยู่ห่างๆ เป็นผื่นแบบแบนราบเล็กๆ (Macular rash) เริ่มขึ้นที่หน้าแล้วลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นเห็นชัดเจนบริเวณแขนขาจะหายไปในเวลา 1-2 วัน และสีผิวหนังจะกลับเป็นปกติ ในเด็กอาจมีอาการเพียงผื่นขึ้น ไม่มีไข้ ไม่มีอาการนำอื่นๆ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีไข้สูงกว่าในเด็ก บางรายอาจมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย โดยเฉพาะในผู้หญิง
2. ทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ (Congenital rubella) จะมีอาการแตกต่างกันแล้วแต่ระยะที่แม่ติดเชื้อ ถ้าแม่เป็นในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1-4 จะพบทารกมีความพิการได้ถึงร้อยละ 30-50 สัปดาห์ที่ 5-8 พบได้ร้อยละ 25 และสัปดาห์ที่ 9-12 พบพิการได้ร้อยละ 8 ความพิการที่พบได้บ่อยคือความพิการทางตา (พบตาเล็ก ต้อกระจก ต้อหิน) ความพิการที่หัวใจ หูหนวก ความผิดปกติทางสมองศีรษะและสมองเล็ก แรกเกิดจะพบมีตับ ม้ามโต มีอาการตัวเหลือง มีจ้ำเลือดตามตัว และเกล็ดเลือดต่ำ อาการผิดปกติเหล่านี้พบได้ในความรุนแรงแตกต่างกัน และอาจพบหลายอย่างร่วมกันได้

ภาวะแทรกซ้อน

ในเด็กส่วนใหญ่ไม่พบภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากโรคไม่รุนแรง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ มีดังนี้
1. ข้ออักเสบ พบได้ในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงมากกว่าชาย มักเกิดระหว่างวันที่ 1-6 หลังผื่นขึ้นและหายภายใน 3-28 วัน (เฉลี่ย 22 วัน) อาจเป็นข้อเดียวหรือหลายๆ ข้อ อาจเป็นข้อใหญ่ เช่น ข้อเข่า ข้อมือ หรือเป็นบริเวณข้อเล็กๆ เช่น นิ้วมือ บางรายอาจมีเพียงอาการปวดข้อแต่ไม่บวม
2. สมองอักเสบ พบได้น้อยมากประมาณ 1 : 6,000 พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก มักเกิดอาการประมาณ 2-4 วันหลังผื่นขึ้น บางรายอาจมีอาการพร้อมกับผื่น อาการคล้าย postinfectious encephalitis ตรวจน้ำไขสันหลังพบเซลล์ขึ้นไม่มากประมาณ20-200 เซลล์ ต่อ ลบ.มม. ระดับโปรตีนสูงเล็กน้อยและระดับน้ำตาลปกติ อัตราตายแตกต่างกันตั้งแต่ร้อยละ 0-50 ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตและมีอาการคล้าย subacute sclerosing panencephalitis (SSPE) ที่พบภายหลังเป็นหัด ภาวะ แทรกซ้อนทางระบบประสาทอื่นๆ ที่พบได้แก่ไขสันหลังอักเสบ เส้นประสาทตาอักเสบ กลุ่มอาการ Guillain-Barre และปลายประสาทอักเสบ
3. จุดจ้ำเลือด อุบัติการณ์จุดจ้ำเลือดที่เกิดพร้อมเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenic purpura) พบได้ 1 : 3,000 พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่ มักพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย ระยะเวลาเฉลี่ยของการเกิดจุดจ้ำเลือด ประมาณ 4 วันหลังผื่นขึ้น แต่อาจเกิดพร้อมผื่นหรือเกิดหลังผื่นขึ้นแล้ว 14 วัน ส่วนใหญ่จะหายเองภายใน 2 สัปดาห์ และจำนวนเกล็ดเลือดจะกลับเป็นปกติ บางรายอาจมีจุดเลือดออกโดยไม่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
4. ตับอักเสบ มีรายงานตับอักเสบในผู้ป่วยหัดเยอรมัน แต่อาการไม่รุนแรง
5. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบได้น้อยมาก
6. โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ในรายที่แม่เป็นโรคหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เดือนแรก อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดการแท้ง ทารกตายคลอด หรือเกิดความพิการแต่กำเนิดในทารก ถ้าแม่เป็นโรคหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์สองเดือนแรก ทารกในครรภ์มีโอกาสเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดได้ถึงร้อยละ 60-85 แต่หากเป็นโรคขณะตั้งครรภ์เดือนที่สาม ทารกอาจมีความผิดปกติของร่างกายระบบใดระบบหนึ่งเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ความผิดปกติแต่กำเนิดต่างๆ ได้แก่
6.1 การเจริญเติบโตช้า ร้อยละ 50-80 ของทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม แม้จะมีอายุครรภ์ครบกำหนด และมีปัญหาเรื่องเลี้ยงไม่โตหลังคลอด
6.2 ความผิดปกติของระบบประสาท ที่พบได้แก่ สมองอักเสบตั้งแต่แรกเกิด
โดยมีกระหม่อมโป่งตึง ร้องกวน กล้ามเนื้อปวกเปียก ชัก น้ำไขสันหลังมีเฃลล์และโปรตีนสูง และอาจมีความพิการตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีศีรษะเล็ก (microcephaly)
6.3 ตาเป็นต้อกระจก พบได้ประมาณหนึ่งในสามของทารก อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และพบได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่บางรายอาจสังเกตพบภายหลัง บางครั้งอาจพบร่วมกับตาเล็ก(microphthalmia) ส่วนต้อหิน (congenital glaucoma) พบน้อยกว่าต้อกระจก นอกจากนี้อาจพบ retinopathy เนื่องจากมีความผิดปกติของสีบริเวณเรตินา
6.4 หูหนวก (sensorineural deafness) มักเป็นทั้งสองข้างแต่อาจพบข้างเดียวได้เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดในโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด
6.5 ความผิดปกติของหัวใจและเส้นเลือดแต่กำเนิด ที่พบได้แก่ patent ductus arteriosus, pulmonary artery stenosis ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
6.6 ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต เกล็ดเลือดต่ำ dermal erythropoiesis ตัวเหลือง ภาพถ่ายรังสีกระดูกแขนขาพบ radiolucencies บริเวณตอนกลางของกระดูกยาว นอกจากนี้เคยมีรายงานถึง progressive rubella panencephalitis พบได้ในโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. การตรวจนับเม็ดเลือด อาจตรวจพบเม็ดเลือดขาวต่ำ และมีเซลล์ลิมโฟซัยต์เพิ่มขึ้น บางรายมีเกล็ดเลือดต่ำ
2. การเพาะเลี้ยงไวรัส ทำได้จาก
เก็บน้ำเยื่อเมือกจากจมูกและลำคอ(throat/nasalswab) ของผู้ป่วยในระยะ 7 วัน ก่อนผื่นขึ้นถึง 5-7 วันหลังผื่นขึ้น แต่อาจตรวจพบไวรัสได้นานถึง 14 วันหลังผื่นขึ้น
ส่วนเชื้อในเลือดมักตรวจพบก่อนผื่นขึ้นและหายไปเมื่อผื่นหมดแล้ว
ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้ออักเสบ สมองอักเสบ อาจตรวจพบเชื้อไวรัสได้จากน้ำในข้อและน้ำไขสันหลังตามลำดับ ในทารกที่เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดสามารถตรวจเพาะเชื้อไวรัสได้จากจมูก ลำคอ ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง และเม็ดเลือดขาว
3. การตรวจทางซีโรโลยี สามารถทำได้หลายวิธีได้แก่ HI, CF neutralization, IFA, precipitation, RIA, ELISA, single radial hemolysis (SRH), PHA, LA, platelet aggregation ซึ่งแอนติบอดีขึ้นเร็วและอยู่นานตลอดชีวิต
ปัจจุบันได้มีการนำวิธีการตรวจหลายวิธีที่ทำได้ง่ายสะดวกแม่นยำกว่า แต่ความไวของการทดสอบพอๆ กับ HI มาใช้ได้แก่ วิธี ELISA, LA และ SRH การตรวจพบแอนติบอดีชนิด Ig M เพียงเหนึ่งครั้ง หรือตรวจชนิด Ig G สองครั้งห่างกันเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของระดับแอนติบอดี ถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 4 เท่า แสดงถึงการติดเชื้อเฉียบพลัน

การวินิจฉัยแยกโรค

ต้องแยกโรคหัดเยอรมันจากไข้ออกผื่นต่างๆ เช่น หัด ส่าไข้หรือเหือด(exanthema subitum) infectiosum การติดเชื้อ enterovirus ไข้อีดำอีแดง และผื่นจากยา serum sickness
ในหญิงตั้งครรภ์การวินิจฉัยแยกโรคมีความสำคัญมากจำเป็นต้องใช้การตรวจทางซีโรโลยีทุกราย

การรักษา

การรักษาเป็นการรักษาตามอาการในรายที่มีข้ออักเสบแนะนำให้รักษาด้วยแอสไพริน กรณีมีเกล็ดเลือดต่ำและเลือดออกไม่หยุด อาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ให้เกล็ดเลือด หรืออิมมูโนโกลบุลินทางเส้นเลือดดำ
ในหญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสโรคหัดเยอรมันควรได้รับการตรวจเลือดทันทีเพื่อดูว่าเคยมีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันหรือไม่
o ถ้าตรวจพบแอนติบอดีชนิด Ig G ที่จำเพาะแสดงว่ามีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน
o กรณีตรวจไม่พบ แนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง 2-3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจเป็นลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค การตรวจเลือดทุกครั้งควรควบคู่กับตัวอย่างเลือดที่เจาะครั้งแรกด้วยเสมอ เพื่อตัดปัญหาความผิดพลาดทางเทคนิค กรณีที่การตรวจเลือดทั้งสองครั้งให้ผลลบแสดงว่าผู้ป่วยไม่ติดโรค แต่ถ้าเคยตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่าผู้ป่วยติดโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำแท้งในกรณีที่เด็กอาจมีความพิการแต่กำเนิด

การแยกผู้ป่วย
เด็กที่ติดเชื้อทั่วไป แยกจนครบ 7 วัน หลังผื่นขึ้น
ในทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ(Congenital rubella) อาจมีเชื้ออยู่ได้นานถึง 1 ปี จึงต้องแยกจากเด็กอื่นๆ เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะติดตามตรวจแยกเชื้อไวรัสใน nasopharynx และในปัสสาวะ (เมื่ออายุ 3-6 เดือน)แล้วไม่พบเชื้อไวรัส
การป้องกัน

1. การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้เป็นชนิดไวรัสเชื้อเป็น จะมีแอนติบอดีหลังฉีดวัคซีนประมาณร้อยละ 98 ซึ่งจะขึ้นช้ากว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติ และขึ้นสูงสุดประมาณสัปดาห์ที่ 6-8 หลังฉีดวัคซีน ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี โดยนิยมให้ในรูปของวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR)
นอกจากการให้วัคซีนป้องกันในเด็กแล้ว สามารถให้วัคซีนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมันทั้งหญิงและชาย
กรณีให้วัคซีนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงเวลา 1 เดือนหลังฉีด ห้ามฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์
2. ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการไอให้ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้มือปิดปากและจมูกพร้อมกับล้างมือบ่อยๆ

ข้อแนะนำในการป้องกันควบคุมการระบาด

มาตรการหลักที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคหัดเยอรมันมีดังนี้
1. การเฝ้าระวังโรค เมื่อพบผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดเยอรมัน ให้เขียนบัตรรายงาน รง.506 ส่งมายังสำนักระบาดวิทยา ทั้งนี้ในระดับพื้นที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบลักษณะการระบาดก่อนทุกครั้ง
2. เมื่อสงสัยว่ามีการระบาด ให้ส่งตัวอย่างซีรั่มผู้ป่วยจำนวนหนึ่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยประสานผ่าน สำนักระบาดวิทยา โทรศัพท์ 02-5901876 ทั้งนี้สำนักระบาดวิทยาจะอำนวยความสะดวกในการจัดส่ง และขอยกเว้นค่าตรวจให้
3. คำแนะนำทั่วไปในการป้องกันการแพร่เชื้อ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน แต่ไม่แสดงอาการ มีได้ถึง 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ดังนั้นในระยะ 2 สัปดาห์หลังมีผื่นขึ้น หรือหลังสัมผัสผู้ป่วย ควรป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น แยกห้องนอน และไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับหญิงมีครรภ์
4. หากมีการระบาดในโรงงาน/บริษัท ให้ปฏิบัติดังนี้
4.1 ลงทะเบียนหญิงมีครรภ์ที่มีอยู่ทั้งหมด ประสานกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม แจ้งสถานการณ์การระบาดให้สูติแพทย์ทราบ ส่งซีรั่มตรวจหา anti-rubella IgG และ IgM โดยทันที และติดตามผลการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การตรวจหา anti-rubella IgM ทำเพื่อวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อหัดเยอรมันในปัจจุบันหรือไม่ (anti-rubella IgM ตรวจพบในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังติดเชื้อ และผลการตรวจอาจพบ anti-rubella IgG เป็นบวกร่วมด้วย) หากมีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ บุตรที่เกิดมาอาจพิการแต่กำเนิดได้ (Congenital Rubella Syndrome) ต้องรีบไปพบสูติแพทย์เพื่อขอคำแนะนำทุกราย
หากตรวจพบ anti-rubella IgG แต่ไม่พบ anti-rubella IgM แสดงว่าหญิงมีครรภ์รายนั้นมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันมาแล้วในอดีต ซึ่งอาจเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติหรือการได้รับวัคซีนก็ได้ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออีก สามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ ยกเว้นรายที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก สูติแพทย์อาจให้หยุดงานไว้ก่อน และตรวจซีรั่มซ้ำเผื่อกรณีผลการตรวจ anti-rubella IgG เป็นบวกปลอม
หากตรวจไม่พบทั้ง anti-rubella IgG และ IgM แสดงว่าหญิงตั้งครรภ์รายนั้นยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จำเป็นต้องแยกตัวออกจากผู้อื่นอย่างเด็ดขาด หยุดงานจนกว่าการระบาดจะสงบ หรือจนกว่าสูติแพทย์มีความเห็นว่าการติดเชื้อจะไม่มีผลต่อบุตรในครรภ์
4.2 ให้หญิงวัยเจริญพันธ์ ทั้งที่เป็นพนักงานและที่อยู่ในครอบครัวของพนักงานทั้งหมดคุมกำเนิด จนกว่าการระบาดจะสิ้นสุดไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
4.3 เมื่อพนักงานเริ่มมีอาการไข้ ให้หยุดงานไว้ก่อน หากมีผื่นตามมาในระยะ 2-3 วัน ให้หยุดงานต่อ จนกว่าครบ 7 วัน นับจากวันที่ผื่นขึ้นวันแรก
4.4 แยกพนักงานเป็นกลุ่มๆ ไม่ให้คลุกคลีกัน เพื่อลดโอกาสการกระจายของเชื้อ
5. การป้องกันโรคในโรงงาน/บริษัท ซึ่งยังไม่มีการระบาด ให้ปฏิบัติดังนี้
5.1 แจ้งข่าวการระบาดในพื้นที่ให้ทราบ พร้อมแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธ์ทุกคนคุมกำเนิดจนกว่าการระบาดจะผ่านพ้นไป 3 เดือน ให้หญิงมีครรภ์เจาะเลือดตรวจในลักษณะเดียวกับข้อ 3.1
5.2 ในกรณีที่โรงงาน / บริษัท สามารถจัดหาวัคซีนได้ อาจให้เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ทั้งนี้ควรพิจารณาข้อมูลประวัติการได้รับวัคซีนในอดีตร่วมด้วย ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ผู้หญิงที่มีอายุ 7-32 ปี และผู้ชายที่มีอายุ 7 -19 ปี ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาแล้วเมื่อครั้งเป็นนักเรียน
ในกลุ่มหญิงอายุ 21-32 ปี อาจสามารถให้ประวัติได้ว่าได้รับวัคซีนหัดเยอรมัน (R) ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ให้แก่นักเรียนหญิงเท่านั้น ส่วนในกลุ่มที่อายุต่ำกว่านี้ไม่น่าจะให้ประวัติได้ เนื่องจากการให้วัคซีนได้เปลี่ยนมาเป็นวัคซีน MMR ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และให้ทั้งหญิงและชาย ต้องอาศัยประวัติจากบันทึกหลักฐาน เช่น สมุดสุขภาพประจำตัวเด็ก บัตรบันทึกสุขภาพประจำตัวนักเรียน ทะเบียนการให้วัคซีนในโรงเรียนของสถานบริการ เป็นต้น
6. การป้องกันโรคในชุมชน ให้ปฏิบัติดังนี้
6.1 กลุ่มหญิงวัยเจริญพันธ์ และหญิงมีครรภ์ ให้ปฏิบัติในลักษณะเดียวกับข้อ 5.1
6.2 ให้สถานบริการตรวจสอบการให้บริการวัคซีน MMR ในเด็กชั้นประถมปีที่ 1-6 ในโรงเรียนที่รับผิดชอบ และติดตามให้วัคซีนแก่เด็กนักเรียนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนทันที โดยไม่ต้องรอเปิดปีการศึกษาใหม่
6.3 ในโรงเรียนมัธยม และอาชีวศึกษา หากสามารถตรวจสอบประวัติวัคซีนจากบัตรบันทึกสุขภาพนักเรียนได้ และพบผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้ติดตามให้วัคซีนเพิ่มเติมด้วย
6.4 ไม่แนะนำการให้วัคซีนในผู้ใหญ่ทั่วไป ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้ว จากการได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วในอดีต การศึกษาในจังหวัดเชียงราย ชลบุรี อุดรธานี และนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2547 พบว่าร้อยละ 93 ของประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป มีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้ว

ปอดอักเสบ // บาดทะยัก // ไข้สมองอักเสบ // ทริคิโนซิส // ไข้ไทฟอยด // ตับอักเสบ A // มาลาเรีย // Ebola // Leptospirosis // Streptococus // ไข้เหลือง //


กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
กลุ่มงานเฝ้าระวังและสอบสวนทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค